Pages

Sunday, August 2, 2020

อสังหาฯกลาง-เล็ก มวยวัดหมัดน็อคฝ่าโควิด - กรุงเทพธุรกิจ

miniselebrity.blogspot.com

โควิดฉุดอสังหาฯรายกลาง รายเล็กทรุด ทว่ายังมีบริษัทอสังหาฯนอกตลาดหลักทรัพย์ เป็น“มวยวัด”ผู้ไม่แพ้ รบนอกสังเวียน แปลงข้อด้อย เป็นจุดแข็ง"เล็ก-ปราดเปรียว-เข้าเร็ว -ออกเร็ว"หลบวิกฤติ..สู่น่านน้ำใหม่

ต้องยอมรับว่าวิถีการแข่งขันของโมเดลนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Developer) มีทุนเป็นต่อ! เพราะแค่เพียงเริ่มต้นก็ต้องใช้เงินทุนซื้อที่ดิน ก่อสร้าง ทำตลาด แล้วค่อยทำยอดขาย ลงทุนเริ่มต้นหลักร้อยล้าน พันล้าน ไปจนถึงหมื่นล้านบาท กว่าจะรับเงิน คืนทุนต้องรอระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ไม่ต่ำกว่า 1 ปีครึ่ง สำหรับโครงการแนวราบ (บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์)  

ยิ่งหากเป็นโครงการตึกสูง โดยทั่วไปใช้เวลาคืนทุนอยู่ที่ 3-4 ปี นี่คือความเสี่ยงของธุรกิจนี้ที่ต้องแบกต้นทุนมหาศาล 

ยากขึ้นไปอีก หากนักพัฒนาอสังหาฯรายนั้น ไม่เงินทุนไม่หนาพอ หรือมีแหล่งเงินทุนจากธนาคารคอยหนุน จึงเป็นเหตุให้บริษัทอสังหาฯพอดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง มักเดินสู่การเป็นบริษัท มหาชน” เพื่อระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นอกจากความเสี่ยงด้านแหล่งทุน ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของความต้องการ (ดีมานด์) ว่าเปิดตัวโครงการแล้วจะแทงหวยถูก ขายหมดหรือไม่ ซึ่งมีหลายตัวแปรที่ต้องคำนึงถึง 

ทว่าที่ผ่านมา ไม่มีใครพูดถึง ตัวแปรเรื่องโรคระบาด ที่กระทบกำลังซื้ออสังหาฯอย่างแรง พลอยกระเทือนไปกระทบความเชื่อมั่นของนักพัฒนาอสังหาฯต่อการเดินหน้าโครงการ

โดยผลสำรวจจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เผยถึง ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 (REIC Housing Developer’s Sentiment index: HDSI) พบว่าภาพรวมดัชนีมีค่าเท่ากับ 42.6 จุด เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า(QoQ) อยู่ที่ 41.2 จุด แต่ยังต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50

แม้ภาพรวมดัชนีจะมีทิศทางที่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่หากแยกดัชนี้ความเชื่อมั่นเป็นบริษัทอสังหาฯขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Non -Listed Companies) จะพบว่า มีความเชื่อมั่นลดลงต่อเนื่อง โดยไตรมาส 2 ของปีนี้ มีค่าดัชนีอยู่ที่ 38 จุด ลดลงจากไตรมาสแรกของปีนี้ มีค่าดัชนีอยู่ที่ 40.5 จุด

เมื่อเทียบกับบริษัทอสังหาฯที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Listed Companies) มีค่าดัชนีสูงกว่าภาพรวม อยู่ที่ 45.7 จุด เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 41.7 จุด สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการ Listed มองภาพวิกฤติเป็นบวก ปลุกความหวังตลาดจะกลับมาฟื้นตัว 

ตรงกับข้ามกับอสังหาฯขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ยังเห็นว่าต่อให้วิกฤติโควิดคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น แต่บริษัท Non-Listed ยังไม่คลายความกังวลว่าตลาดอสังหาฯจะฟื้นตัวดีขึ้น สถานการณ์ยังเปราะบางทั้งปัจจุบันและอนาคต ปัจจัยเสี่ยงรอบด้านจึงไม่ง่ายต่อการพัฒนาโครงการใหม่

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า ดัชนีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า นักพัฒนาอสังหาฯ บริษัท Non-Listed Companies มีความไม่เชื่อมั่น และกังวลต่อโอกาสในการแข่งขันในธุรกิจอสังหาฯ ทั้งจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ ฉุดดีมานด์ซื้อบ้านลดลงไป จากตลาด และยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่นักพัฒนา Listed Companies โดนแรงบีบจากผู้ถือหุ้น วิ่งไปชิงดีมานด์ในตลาดที่กลุ่ม Non-Listed ถือครองอยู่ ทั้งต่างจังหวัด และพื้นที่อื่นๆ ที่เป็นโอกาสของรายเล็ก

แต้มต่อสำคัญ นักพัฒนาอสังหาฯ รายใหญ่ในตลาด มีความได้เปรียบ เงินทุน” หนากว่า สายป่านยาว และมีช่องทางในการหาแหล่งเงินทุนหลากหลาย ่ไม่จำกัดแค่เพียงจากสถาบันการเงิน เช่น หุ้นกู้ ต้นทุนการเงินถูกกว่าNon-Listed Companies ไพ่ที่เหนือกว่าอีกด้าน คือ เครื่องมือในการทำการตลาดดิจิทัล รองรับวิถีใหม่ (New Normal) ใช้สื่อออนไลน์ ทำให้คนเห็นแบรนด์ได้มากกว่า

โดยเฉพาะในช่วงโควิด ธนาคารเห็นท่าไม่ดี เริ่มคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อเลือกเฉพาะรายใหญ่ที่มีน่าเชื่อถือ มีผลงาน และมีแบรนด์ นี่จึงทำให้อัตราการเปิดตัวของบริษัทใหญ่ Listed มีมากกว่า ขณะที่บริษัทขนาดเล็ก Non-Listed เมื่อยามขาดเงินทุนจึงเลือกหยุด หรือชะลอเปิดตัวโครงการ

“วิกฤติโควิดจึงมีโอกาสที่บริษัทขนาดใหญ่เปิดตัวเข้าไปชิงเค้กกำลังซื้อบ้าน และคอนโด ที่รายเล็กๆ ครองพื้นที่ บางบริษัท Listed วางแผนเข้าไปแข่งในต่างจังหวัดมากขึ้นมากขึ้น” เขาอธิบาย

ผอ.ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ยังระบุว่า ก่อนช่วงโควิดสัดส่วนบริษัท Listed ต่อ Non-Listed ประมาณ 70/30 แต่หลังจากโควิด การหยุดพัฒนาเปิดตัวโครงการใหม่ของบริษัท Non-Listed เนื่องจากขาดเงินทุน และกังวลกับความเสี่ยงในอนาคต เริ่มจะสูญเสียส่วนแบ่งพัฒนาโครงการใหม่ให้กับบริษัท Listed  

--------------------------

แพทโก้” เศรษฐีหมื่นไร่ ชิงแต้ม..! กลางตลาดซบ

สืบวงษ์ สุขะมงคล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แพทโก้กรุ๊ป เจ้าของแลนด์แบงก์ขนาดใหญ่นับหมื่นไร่ ทั่วประเทศ พัฒนาโครงการอสังหาฯต่อยอดจากแลนด์แบงก์สะสมในมือ ตลอด 30 ปี กว่า 24 โครงการ อาทิ โครงการบ้านหรูวิจิตราธานี โครงการบ้านระดับกลางแบรนด์มารวย 

159635172317

**สืบวงษ์ สุขะมงคล

ที่ผ่านมาเปิดตัวเฉลี่ยปีละ 1-2 โครงการ ค่อยๆ เก็บสะสมกำไรมาเป็นทุน จนทำให้ในช่วง 5 ปี (2558-2563) เปิดตัวโครงการใหม่มากขึ้นเฉลี่ยมีมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อสร้างการเติบโต โดยมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2563

ทว่า เมื่อมาเจอกับผลกระทบโควิด ทำให้ต้องพับแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ กลับมาบริหารแบบค่อยเป็นค่อยไป (Conservative) ไม่เร่งรีบ กดดันตัวเอง เปิดเกมรุกขยับพอร์ตเมื่อมีโอกาส เปิดตัวโครงการแบบกู้ธนาคารควบคู่กับเงินทุนตัวเองสัดส่วน 2ต่อ1

อย่างไรก็ตาม เขาระบุถึงข้อดีของการเป็นบริษัทอสังหาฯนอกตลาดหลักทรัพย์ว่า ทำให้ไม่มีแรงบีบในการทำกำไร สร้างการเติบโต หากดีมานด์ชะลอตัว รวมถึงไม่เร่งลดราคาแข่งขัน แต่ทำโครงการให้มีมูลค่า

ขณะที่จุดแข็งของธุรกิจครอบครัวที่สร้างพอร์ตมาจากธุรกิจหลากหลาย คือ แลนด์แบงก์ในมือ ฐานลูกค้าเก่า และชื่อเสียง (แบรนด์) ไม่แบกภาระที่ดิน  ทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน

“การมีที่ดิน และพัฒนาในพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว ถือว่าได้เปรียบบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้ามาแข่งขัน เพราะมีฐานลูกค้า ที่ครอบคลุมทุกเซ็คเม้นท์ ตั้งแต่กลางจนถึงระดับบน"

----------------------

นักอสังหาฯหมัดเล็ก ชกไว หลบไว

พันเอก ดร.รอยบุญ เลาหะวิไลย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย อินเตอร์ เฮาส์ จำกัด และบริษัท สิริทรง พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด  นักพัฒนาธุรกิจอสังหาฯ ที่สร้างตัวจากการสะสมกำไรมาพัฒนาโครงการทั้งแนวราบและแนวสูง มากว่า 26 ปี (เริ่มปี 2537 ) เคยผ่านบทเรียนวิกฤติปี 2540 จนเจ็บหนักมาก่อน 

159635239824

**พันเอก ดร.รอยบุญ เลาหะวิไลย

สำหรับเขาสถานการณ์เช่นนี้ จึงเลือกเดินธุรกิจบนความสมมติฐานเลวร้ายที่สุด(Worst Case) เพื่อบริหารความเสี่ยง

โดยเขายอมรับว่า บริษัทรายเล็ก นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ เสียเปรียบการแข่งขันในภาวะที่กำลังซื้อที่อยู่อาศัยชะลอตัว ผู้ประกอบการรายเล็กจะยิ่งค่อยๆ หายไปจากตลาด หยุดการพัฒนาโครงการใหม่ เพราะ ขาดเงินทุน ธนาคารเริ่มชะลอการปล่อยสินเชื่อ ต้นทุนทางการเงินของบริษัทขนาดใหญ่จะต่ำกว่า 30-40% 

อีกแต้มต่อของรายใหญ่ คือ ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทั้งธนาคารและลูกค้า ต่างไม่มั่นใจในบริษัทโนเนม และบริษัทใหญ่ยิงโฆษณาเม็ดเงินครั้งเดียวเข้าชมทุกโครงการ แต่รายเล็ก ใช้จ่ายเงินเท่ากัน แต่ขายได้เฉพาะเพียงโครงการเดียว เทียบกับต้นทุนจำนวนโครงการ(Economy of Scale) ต้องขายต่ำกว่าแบรนด์ถึง20% จึงจะแข่งขันได้

ในภาวะตลาดชะลอตัว ลูกค้าที่ซื้อโครงการจะมั่นใจแบรนด์มากกว่า เนื่องปี2540 เคยมีกรณีที่ลูกค้าวางเงินแล้วไม่ได้บ้าน ส่วนแบงก์ชะลอการปล่อยสินเชื่อ รายใหญ่ในตลาดยังมีทางเลือกทางการเงินมากกว่า

ดังนั้น หากเปรียบมวยวัดกันไซส์รายเล็กแพ้อย่างหมดรูปตั้งแต่ยังไม่ลงแข่งขัน 

ทว่า ด้วยความที่เขาอยู่ในตลาดมีประสบการณ์มายาวนาน จึงรู้ว่า ชกกับรายใหญ่หมัดหนักกว่า ต้องเป็นมวยวัด "ชกเร็ว หลบไว นั่นคือ Economy of Speed ตัดสินใจฉับไว เข้าเร็ว ออกไว เมื่อเห็นสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว สันนิษฐานร้ายแรงที่สุด หากไม่มีรายได้ 4-5 ปีต้องอยู่ให้ได้ จึงลดราคาเร่งขาย เร่งโอนโครงการในมือ จนขายหมด โครงการคอนโด เดอะ เมเปิ้ล 2 โครงการ และหยุดเปิดโครงการที่ 3 ที่มีแผนในปี 2563 รวมไปถึงการเร่งขายบ้าน สิริ เฮ้าส์ โครงการทาวน์โฮม บนถนนรัชดา

นี่คือข้อได้เปรียบของบริษัท Non-Listed สู้กับยักษ์ใหญ่ Listed ตัดสินใจเร็ว ไม่มีขั้นตอนเยอะ สัญญาณไม่ดีก็ออกให้ไว ทำให้วิกฤติโควิด ที่ทุกคนมองว่าหนักกว่าปี 2540 บริษัทไม่ต้องแบกรับภาระสต็อกให้หนัก ที่สำคัญต้นทุนผู้บริหารมีเพียงคนเดียวทำ 4-5 หน้าที่ ขณะที่บริษัทใหญ่ใช้ทีมผู้บริหาร 4-5 คน

“เพราะผ่านปี 2540 เคยเจ็บตัวมาก่อนจึงรู้ว่าวิกฤติมันเจ็บปวด หลังจากมาตรกรคุมเข้มสินเชื่อ (LTV) เห็นสัญญาณไม่ดี ก็เริ่มทยอยขาย ลดราคาเร่งโอนจนปิดปลายปี 2562และเร่งขายในปี2563”

ณ ปัจจุบัน สิ่งที่บริษัท เอเชีย อินเตอร์ เฮาส์ แก้เกมวิกฤติ คือแปลงแลนด์แบงก์ที่แบกไว้มูลค่า 400-500 ล้านบาท จากเตรียมพัฒนาเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็หยุดหันมาปรับพอร์ตเป็นปล่อยเช่า กระจายความเสี่ยงหลากหลาย (Diversify) เพิ่มรายได้ประจำ (Recurring Income) อาจจะมีการปรับแลนด์แบงก์จากที่อยู่อาศัยมาเป็นโครงการอาคารพาณิชย์

รายใหญ่หมัดหนักกว่า เราเป็นรายเล็ก มวยวัด ต้องชกถี่ ชกไว ต่อยให้ตรงเป้า หากลูกค้าเดินเข้าโครงการต้องตัดสินใจลดราคาและปิดการขายให้ได้

159635139299

----------------------------

ทะลวงชิงเซ็คเม้นท์สีคราม 

ช่องว่างรายใหญ่-เล็ก ไม่ทำ

ชนินทร์ วานิชวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮาบิแทท กรุ๊ป จำกัด อดีตนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่หันมาเป็นนักลงทุนซื้อคอนโดมิเนียมเก็บสะสมเพื่อการลงทุน เก็งกำไรและปล่อยเช่า จากหลัก 10 เป็นหลัก100 ห้อง จนสะสมเงินทุนได้จำนวนหนึ่ง พร้อมกับวิธีคิดแบบนักพัฒนาอสังหาฯ ผันตัวเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จับกลุ่มตลาดนักลงทุน ปั้นโมเดลธุรกิจจับกลุ่มผู้ซื้อเพื่อการลงทุน และพักผ่อน (Life Style Investment) ช่วยดูแลและบริหารจัดการบริหารสินทรัพย์ 

เขายอมรับว่า ผลกระทบจากวิกฤติโควิดทำให้ตลาดต่างประเทศลดลงไปอย่างเห็นได้ชัดในช่วงล็อกดาวน์ และธนาคารก็เริ่มลดการปล่อยกู้ 

159635184587

**ชนินทร์ วานิชวงศ์

ผลกระทบลูกแรก ตกอยู่กับบริษัท Non-listed ขนาดเล็ก จะอยู่ยาก จึงต้องใช้เงินลงทุนเองมากกว่าเดิม หากต้องการลงทุน ต้นทุนแพง แต่ผลตอบแทนต่ำกว่าคู่แข่ง

ขณะที่บริษัท Non-Listed ขนาดกลาง เริ่มสร้างแบรนด์ มีผลงาน ใช้กลยุทธ์หาช่องว่างตลาดเฉพาะ วางกลุ่มเป้าหมายเซ็คเม้นท์ชัดเจน ดึงดูดพันธมิตรร่วมทุน ช่วงวิกฤติจึงมีทางออกแหล่งเงินทุนที่หลากหลายช่องทาง มีไซส์กลาง เป็นจุดอ่อนที่มีจุดแข็ง ที่เล็ก คล่องตัว และยืดหยุ่น มีศักยภาพทำโครงการขนาดใหญ่ พร้อมร่วมทุนกับพันธมิตรหลากหลาย มีโอกาสเติบโต

ชนินทร์ ยกตัวอย่างโครงการของฮาบิแทท อสังหาฯระดับกลาง มีผลงานการพัฒนาโครงการพัทยาไปแล้ว 7 โครงการ มูลค่ารวม 5,500 ล้านบาท จึงเพิ่มโอกาสหาผู้ร่วมทุนต่างประเทศ เช่น ร่วมทุนกับ ลิสต์ กรุ๊ป (List Grop) ผู้เชี่ยวชาญอสังหาฯจากประเทศญี่ปุ่น ตอบโจทย์ของการมีแหล่งเงินทุน โดยไม่จำเป็นต้องมีแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ 

หากเข้าตลาดฯวันนี้อาจจะวิ่งเป็น "หนูติดจั่น” เหนื่อยหนักเร่งสร้างรายได้ ขึ้นโครงการใหม่ ยิ่งเพิ่มภาระเหนื่อยหนักในช่วงวิกฤติโควิด ต้องตกอยู่ในสภาพแบกสต็อก(Inventory) จนอ่วม

“บริษัทนอกตลาดไซส์กลางหากจะไปแข่งขันในตลาดทะเลสีแดง (Red Ocean) ที่มีทั้งทุน ไซส์ จำนวนโครงการมาก(Volume Scale) สู้เค้าลำบาก ต้องมองหาช่องว่างตลาด ที่เจ้าใหญ่ไม่เล่น เช่น แปลงเล็กๆ

บริษัทในตลาดและนอกตลาดมีทั้งข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์และจุดแข็งหลักของธุรกิจ โดยกระแสเงินสด ยังหัวใจสำคัญสูบฉีดเลือดหล่อเลี้ยงธุรกิจ

ภาวะตลาดแบบนี้มันปราบทุกอย่างน็อคเอาท์ หากวิ่งตามกระแสไม่หาเซ็กเม้นท์ใหม่ๆ อาจจะถึงทางตัน สภาพตลาดอสังหาฯ ตั้งแต่ปี 2559-2561 นักพัฒนาอสังหาฯยังสนุกขายดีเปิดโครงการจำนวนมาก พอเริ่มชะลอในปี2562 ต่อเนื่องมาสู่ปี 2563 เจอวิกฤติโควิด หากไม่เตรียมรับมือการชะลอตัว บริษัทในตลาดก็จะเหนื่อยต้องเร่งระบายสต็อก"

จุดของของฮาบิแทท ความความยืดหยุ่นพร้อมปรับตัว แม้มีข้อด้อยด้านทุน แต่ยังมีี ทำเล สินค้า และราคา  ที่ต้องแข่งกัน

“สู้กับยักษ์ใหญ่สู้ยาก ต้องชิงความได้เปรียบในแต่ละมิติ กระสุนไม่ใหญ่ แต่หากไซส์เล็กตอบโจทย์ลูกค้า มีจุดขายแตกต่าง โดยเฉพาะความต้องการบ้านแนวราบเพิ่มขึ้น ไม่ว่า รายเล็ก กลาง ใหญ่ล้วนมีโอกาสชิงดีมานด์"

---------------------------

ออกตัวสปีดทิ้งความกลัว” 

ชิงปิดเกมระดมทุนซื้อที่ดิน

กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซทไวส์ จำกัด (มหาชน) นักอสังหาริมทรัพย์หน้าใหม่ ผู้ผันตัวจากวิศวกรมนุษย์เงินเดือนให้บริษัทอสังหาฯมาสู่นักพัฒนาอสังหาฯ จุดแข็งคือความที่เป็นวิศวกรทำให้การบริหารงานก่อสร้างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ 

ในปี 2547 เริ่มต้นซื้อทาวน์เฮาส์มารีโนเวท จนก้าวป็นนักพัฒนาอสังหาฯเต็มตัว เปิดบริษัทในปี 2556 ยุคคอนโดเริ่มบูม ก้าวขึ้นปีที่ 8 พัฒนาไปแล้ว 22 โครงการ 2-3 ปีที่ผ่านมา(2561-2563)พัฒนาโครการเฉลี่ย 4-6 โครงการต่อปี

159635206330

**กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์

สิ่งที่ทำให้เขาเบียดเข้ามาในตลาดได้คือการทำโครงการตึกไม่เกิน 8 ชั้น (Low Rise) ยูนิตน้อย สร้างเสร็จ ขายเร็ว เน้นโซนรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย เช่น ลาดพร้าว รัชดา รวมไปถึงย่านสถาบันการศึกษา

ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ เขาเดินเกมสวนทางกับนักพัฒนาอสังหาฯรายเล็ก ที่ยังกลัวสถานการณ์โควิดไม่แน่นอน ระหว่างที่ทุกคนเบรคถอยทัพพับโครงการ แต่เขาเดินหน้าเปิดโครงการ โดยเลื่อนแผนจากช่วงต้นปีมาอยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 จำนวน 4 โครงการ มูลค่า 6,000 ล้านบาท

เริ่มเพิ่มความท้าทายขยับขึ้นใจกลางเมือง เลือกทำเลที่ยังมีช่องว่าง พัฒนาโครงการแนวสูง หลังคลายล็อกดาวน์เปิดตัวทันที เช่น โครงการ โมดิซ ไรห์ม รามคำแหง เนื้อที่8 ไร่มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท แบ่งพัฒนาเปิดตัวเฟสแรก 2 ไร่ 546 ยูนิต มูลค่า 1,790 ล้านบาท ถือเป็นโครงการเดียวระหว่างสถานีรถไฟฟ้ารามคำแหง 

โดยในชไตรมาส3 ยังมีแผนเปิดตัวโครงการ โมดิซ (MODIZ) รังสิต มูลค่า 1,200 ล้านบาท 235 ยูนิต  เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 4 เปิดตัว บ้านภูริปุรี โฮลดิ้ง จำกัด ทาวน์โฮมหรูราคา 7-10 ล้านบาท อีก 2 โครงการ คือ ย่านลาดพร้าว และพัฒนาการ 

ทั้งหมดเพื่อสานต่อเป้าหมายพาธุรกิจเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ได้ตามแผนที่วางไว้ที่จะมีการยื่นหนังสือชี้ชวนเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้น (Filling)ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ในปีนี้ เพื่อการระดมทุนซื้อที่ดิน

“ในช่วงโควิด เรายังมีแบงก์ซัพพอร์ต เพราะที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา7-8 ปี เห็นผลงานของการพัฒนาโครงการที่สร้างเสร็จ ขายเร็ว เป้าหมายการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของเรา เพื่อเตรียมแผนการเติบโตหาแหล่งเงินทุนเพื่อซื้อที่ดินแปลงที่ใหญ่ขึ้น ทำเลที่ดีขึ้น”

Let's block ads! (Why?)



"เล็ก" - Google News
August 02, 2020 at 03:00PM
https://ift.tt/2Der5gq

อสังหาฯกลาง-เล็ก มวยวัดหมัดน็อคฝ่าโควิด - กรุงเทพธุรกิจ
"เล็ก" - Google News
https://ift.tt/3eDvcQu
Home To Blog

No comments:

Post a Comment